พร้อมหรือไม่? เมื่อไทยจะก้าวไปยุค 4.0
Publish On 20, Aug 2018 | พร้อมหรือไม่? เมื่อไทยจะก้าวไปยุค 4.0
Value Based Economy เป็นนิยามทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทยในศักราชนี้ เมื่อไทยอยู่ในสถานะ “ประเทศกำลังพัฒนา” มาหลายทศวรรษโดยยังไม่มีทีท่าว่า จะขยับตัวเองจากเส้นทางกำลังพัฒนา สู่ถนนสายพัฒนาแล้วได้อย่างไร
นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิชาการเสนอแนวคิดปฏิวัติเศรษฐกิจใหม่บนพื้นฐานแห่งนวัตกรรมและการสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืน โดยขับเคลื่อนด้วยความทันสมัยของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งรัฐบาลขานรับแนวคิดนี้ พร้อมกำหนดให้เป็นวิสัยทัศน์ชาติ
Thailand 4.0 ยุคใหม่ประเทศไทยที่จะทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และเศรษฐกิจทั้งชาติเกิดความเข้มแข็ง มีการบูรณาการจากระดับธุรกิจรากแก้วจนถึงไม้ใหญ่แบบองค์กรระดับชาติ โดยตามวิสัยทัศน์แห่ง Thailand 4.0 มีฝันที่ต้องทำให้เป็นจริงใน 4 มิติ ได้แก่
– ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ โดยใช้นวัตกรรมมาเป็นกลไกในการขับเคลื่อน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ผนวกความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี ทั้งหมดนี้ทำให้ทุกภาคส่วนต้องหันกลับมาตระหนักถึงความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเทเม็ดเงินลงไปในกิจกรรม R&D ให้ได้มากถึง 4% ของจีดีพีทั้งประเทศ และจะเพิ่มงบให้มากขึ้นเป็น 5-6% ภายใน 5 ปี โดยรัฐบาลตั้งเป้าให้รายได้ประชาชาติต่อหัวของประชากรในประเทศไทย ขยับจาก 5,470 ดอลล่าร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 15,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อคนต่อปีภายในปี ค.ศ. 2032
– ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ และสร้างฐานประชากรกลุ่มเกษตรกร หรือชาวนา ให้กลายเป็น Smart Farmers ด้วยการปฏิวัติเทคโนโลยีเข้ากับวิถีการเกษตรให้ได้อย่างน้อย 2 หมื่นครัวเรือน ภายใน 5 ปี
– ยกระดับคุณค่าของทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการริเริ่มปฏิรูประบบการศึกษาและตั้งเป้าให้มหาวิทยาลัยในประเทศอย่างน้อย 5 แห่งติดชาร์ตมหาวิทยาลัยดีเด่นของโลก 100 อันดับแรกภายในระยะเวลา 20 ปี
– ปกป้องและดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เพราะเมื่อกระบวนการผลิตกำลังเดินไปข้างหน้า การใช้ทรัพยากรอย่างฉลาดและรู้คุณค่าเป็นแนวคิดที่เกิดใหม่ในทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเป้าหมายของนโยบายประเทศไทย 4.0 คือการดูแลรักษาทรัพยากร และใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน
ในส่วนของภาคธุรกิจเอง แม้ว่าจะปฏิวัติแนวคิดได้ไม่เท่าทันฝันของรัฐบาล แต่วันนี้จะเห็นได้ว่า หลายภาคส่วนก็เริ่มขยับตัวไปสู่โลกใหม่ที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น เมื่ออินเทอร์เน็ตเป็นกลไกหลักที่นำทุกพื้นที่ของประเทศสู่ความทันสมัย กระทั่งชาวไร่ชาวนา ยังมีเป้าหมายในการยกระดับขีดความสามารถในการทำไร่ทำนาตามแบบฉบับ Smart Farmers ภาคธุรกิจเองก็ต้องขยับตัวไม่ต่างกัน สตาร์ทอัพ และ สมาร์ทเอ็นเตอร์ไพรส์ ต้องเพิ่มมูลค่าด้วยการสร้างนวัตกรรมให้กับสินค้าและบริการ ในขณะเดียวกัน แรงงานฝีมือจะต้องถูกยกระดับตั้งแต่การให้การฝึกอบรมและหลักสูตรที่มีมาตรฐาน ภาพทั้งหมดนี้จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้าสู่เศรษฐกิจใหม่ เศรษฐกิจแห่งคุณค่าที่เชื่อมั่นว่าจะทำให้เราก้าวออกจากกับดักของรายได้ปานกลางได้ในที่สุด
ฝันบทใหม่ ในนิยาม Thailand 4.0 เดินทางมายาวนานกว่า 4 ปีแล้ว และวันนี้มีคำถามว่าแต่ละภาคส่วนได้มองเห็น หรือลงมือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปได้มากน้อยแค่ไหน และคนไทยเรา “พร้อมหรือไม่” กับการก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อเทคโนโลยีเหล่านี้จะต้องสามารถขับเคลื่อนองคาพยบแห่งเศรษฐกิจในระดับประเทศให้ก้าวไปสู่ความมั่งคั่งที่ยั่งยืนได้ เหมือนเช่น เกาหลีใต้ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกาได้พิสูจน์แล้วว่าทำได้จริง