Close
|
> BUSINESS TIPS > สรุปพรบ.และกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ควรรู้ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ

สรุปพรบ.และกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ควรรู้ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ

Publish On 23, May 2018 | สรุปพรบ.และกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ควรรู้ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ

   คงปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ล้วนเป็นเรื่องที่ทุกคนกล่าวถึง นอกจากมิติทางด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมแล้ว สิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่ภาคธุรกิจต้องคำนึงถึง หากต้องการก้าวสู่การเป็นบรรษัทภิบาลที่ดี ในปัจจุบัน มีกฎหมายสิ่งแวดล้อมจำนวนมากที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจนั้น ๆ โดยเฉพาะหากเป็นธุรกิจที่มีโรงงานแล้ว การควบคุมมลพิษในด้านต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญที่ต้องดำเนินการให้อยู่ภายใต้กฎหมาย

 

 

   แนวคิดของกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่สำคัญนั้น เป็นกฎหมายที่มีลักษณะของการควบคุมและป้องกันให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติ โดยมีหลักการสำคัญที่เรียกว่า “ใครก่อมลพิษ คนนั้นจ่าย” ซึ่งถือว่าผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการกำจัดมลพิษที่ตนเองได้ก่อให้เกิดขึ้น แนวคิดนี้จะแทรกอยู่ในกฎหมายสิ่งแวดล้อมแต่ละฉบับ ในที่นี้ จึงขอนำเสนอภาพรวมและความมุ่งหมายของกฎหมายสิ่งแวดล้อมเฉพาะที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ

 

 

 

 

พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

   กฎหมายหลักฉบับแรกที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เข้ามาควบคุมการประกอบธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เช่น การกำหนดมาตรการควบคุมมลพิษ ด้วยการที่ภาคธุรกิจต้องจัดให้มีระบบบำบัดอากาศเสีย ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดของเสีย และเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับมลพิษที่อาจจะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางน้ำ ทางอากาศ ทางเสียง มลพิษอื่น ๆ  และของเสียอันตราย การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดมลพิษ หรือกระทั่งกรณีของโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องมีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

 

 

 

พรบ.โรงงาน

   สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีโรงงานเป็นของตัวเองแล้ว ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ได้จำแนกประเภทของโรงงาน และกำหนดสิ่งที่โรงงานแต่ละประเภทต้องปฏิบัติ เช่น ที่ตั้ง สภาพแวดล้อม ลักษณะของอาคารและลักษณะภายในโรงงาน เครื่องมืออุปกรณ์เพื่อป้องกันหรือระงับบรรเทาอันตราย ความเสียหายที่อาจเกิดแก่บุคคลหรือทรัพย์สินในโรงงานหรือที่อยู่ใกล้เคียง มาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยกฎหมายฉบับนี้ยังมีความเชื่อมโยงกับพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ที่มุ่งหมายให้มีมาตรการควบคุม กำกับดูแล และบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้แก่ผู้ใช้แรงงานอย่างเหมาะสม นอกจากนั้นแล้ว หากเป็นผู้ประกอบธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรม ยังต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ พ.ศ.2522 ที่กำหนดเงื่อนไขบางอย่างให้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการของเสียในกระบวนการผลิตอีกด้วย

 

 

 

 

พรบ.สาธารณสุข

    กฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 กฎหมายฉบับนี้มีความมุ่งหมายสำคัญในการเข้ามาคุ้มครองประชาชนด้านสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม ดังนั้น กิจการบางประเภทของผู้ประกอบธุรกิจจึงอาจถูกควบคุมในด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะกิจการที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงการจัดระเบียบในการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย การกำหนดสุขลักษณะของอาคาร การกำหนดเหตุรำคาญที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น เป็นต้น ซึ่งจะให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นและเจ้าพนักงานสาธารณสุขเข้ามากำกับดูแลให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามกฎหมาย

 

พรบ. วัตถุอันตราย

   สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีการนำเคมีภัณฑ์ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายมาใช้ในกิจการ จะต้องปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งครอบคลุมวัตถุอันตรายต่าง ๆ เช่น วัตถุระเบิดได้ วัตถุไวไฟ วัตถุมีพิษ วัตถุที่ทำให้เกิดโรค วัตถุที่มีกัมมันตรังสี วัตถุกัดกร่อน วัตถุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุอันตรายบางชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม กฎหมายฉบับนี้จึงมีการจำแนกชนิดของวัตถุอันตราย และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการควบคุมวัตถุอันตรายแต่ละชนิดให้มีความเหมาะสม ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจจะต้องปฏิบัติตามเช่นกัน

 

 

 

 

นอกจากกฎหมายที่ยกตัวอย่างข้างต้นแล้ว กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องคำนึงถึงนั้น ยังมีมากมายหลายฉบับ ซึ่งกฎหมายส่วนใหญ่นั้นจะมีความเชื่อมโยงกับอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้ามาควบคุมดูแลให้ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย นอกจากนั้นแล้วกฎหมายสิ่งแวดล้อมยังเป็นกฎหมายที่มีความเป็นพลวัตร อันเนื่องมาจากสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยให้ความสำคัญ ผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องติดตามและรู้เท่าทันกฎหมายเหล่านี้ เพราะนอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีส่วนรับผิดชอบต่อชุมชน และสังคมต่อไป

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

[elementor-template id="3478"]