The Green Alliance พันธมิตรธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
Publish On 30, Jun 2017 | The Green Alliance พันธมิตรธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
เมื่อเอ่ยถึงยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคนี้ แน่นอนว่า ทุกคนต้องนึกถึง “โตโยต้า” เป็นแบรนด์อันดับต้น ๆ ด้วยยอดขายอันดับหนึ่งในไทยและความน่าเชื่อถือในเชิงคุณภาพและบริการหลังการขาย สำหรับ All Around Plastics ฉบับนี้ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณสุรพงษ์ ตินนังวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด หรือ TDEM ถึงความร่วมมือในการทำงานกับบริษัท แกรนด์ สยาม คอมโพสิต จำกัด หรือ GSC ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด บริษัท มิตซุย เคมิคอลส์ อิงค์ และบริษัท ไพร์มโพลิเมอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น
ที่ผ่านมา GSC เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติก “พอลิโพรพิลีนคอมพาวด์” ที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ โดย GSC นำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสังเคราะห์ปิโตรเลียมคือ “พอลิโพรพิลีน” มาเข้าสู่กระบวนการคอมพาวด์กลายเป็น เม็ดพลาสติกพอลิโพรพิลีนคอมพาวด์ โดยมี บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ TDEM เป็นคู่ค้าสำคัญ ที่ร่วมกันพัฒนาเม็ดพลาสติกพอลิโพรพิลีนคอมพาวด์ มาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี
Q: TDEM มีขอบข่ายการทำงานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ของโตโยต้าอย่างไรบ้าง
A: ก่อนหน้านี้ สำนักงานแห่งนี้ใช้ชื่อว่า โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง หรือ TMAP-EM ต่อมาจึงเปลี่ยนมาเป็น โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง หรือ TDEM อย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน 2560 เนื่องจากมีการซื้อหุ้นบริษัทไดฮัทสุ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก เพื่อปรับทิศทางการพัฒนารถยนต์ของเราให้ตอบสนองความต้องการของตลาดรถยนต์ทั่วโลก โดยมุ่งไปสู่การลดมลพิษ และประหยัดพลังงาน ด้วยการทำให้รถยนต์มีน้ำหนักเบา การพัฒนาเม็ดพลาสติกที่มีคุณภาพจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์มากขึ้น ปัจจุบัน TDEM ดูแลโรงงานผลิตและประกอบชิ้นส่วนของโตโยต้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิครวม 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินเดีย และปากีสถาน

Q: จากอดีตถึงปัจจุบัน TDEM มีการเติบโตอย่างไรบ้าง
A: เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตลาดส่วนใหญ่ที่บริษัทแม่ให้ความสำคัญ คือ อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ตลาดอื่น ๆ ในเอเชียถือเป็นส่วนน้อย ต่อมาตลาดส่วนนี้ค่อย ๆ ขยายตัวขึ้น ทำให้ขอบข่ายการทำงานของ TDEM ขยายตัวตามไปด้วย ทุกวันนี้ TDEM ดูแลตลาดเอเชียแปซิฟิค ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ มียอดขายคิดเป็นร้อยละ 19 ของยอดขายโตโยต้าทั่วโลก จึงทำให้บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นหันมาให้ความสำคัญกับ TDEM มากขึ้น
Q: อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของ TDEM ที่ทำให้รับมือกับช่วงเศรษฐกิจซบเซาได้อย่างดีตลอดมา
A: สำหรับความสำเร็จของ TDEM ที่ผ่านมา สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเกิดจากความร่วมมืออันดีระหว่างบริษัทซัพพลายเออร์ ทั้งกลุ่มผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และผู้ผลิตวัตถุดิบ ทำให้เราควบคุมต้นทุนการผลิตได้จนมีผลประกอบการที่ดีเรื่อยมา นี่คือพื้นฐานที่ดี ช่วยให้เรารับมือกับสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ได้ นอกจากนี้เรามีศูนย์ออกแบบและพัฒนา (Design and Development Center) ของตัวเอง มีหน่วยงานวิศวกรรมเพื่อพัฒนาวัสดุ (Material Engineering Division) รับผิดชอบงานหลักในการพัฒนาเม็ดพลาสติกโดยมี GSC เป็นซัพพลายเออร์ที่ช่วยพัฒนางานด้านนี้อย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปีแล้ว
Q: ขณะนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกล้วนมุ่งไปสู่มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสากล อยากทราบว่า ทาง TDEM มีวิสัยทัศน์ในแง่มุมนี้อย่างไรบ้าง
A: โตโยต้าในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ นับว่ามีหน้าที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง จึงต้องมุ่งผลิตรถยนต์ให้สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด โดยยึดหลักมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสากล ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐาน Corporate Average Fuel Economy หรือ CAFE ของสหรัฐอเมริกา หรือ มาตรฐาน European Emission Standards ของยุโรป โดยพัฒนาเครื่องยนต์ที่ประหยัดน้ำมัน รวมถึงตัวถังรถให้มีน้ำหนักเบา ในขณะเดียวกันสายพานการผลิตก็ต้องมีการควบคุมคุณภาพ ไม่ให้มีสารปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม
ขณะนี้ โตโยต้าจะมีชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตจากพลาสติกราวร้อยละ10 โดยน้ำหนัก แต่ในอนาคตอันใกล้ เราจะพยายามเพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้น แน่นอนว่าต้องร่วมมือกับ GSC ในการพัฒนาวัสดุต่อเนื่องเพราะขณะนี้ในการผลิตรถเอสยูวี โรงงานที่ญี่ปุ่นหันมาใช้พลาสติกในการผลิตฝาท้ายประตูหลังและแก้มรถยนต์ (Fender Side Grilles) แล้ว
TDEM จึงยินดีอย่างยิ่งที่เรามี GSC เป็นพันธมิตรเชิงธุรกิจ ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ครบวงจรตามมาตรฐาน
สิ่งแวดล้อมสากลร่วมกันต่อไป